top of page

จัดงบประมาณ

ปราการด่านสุดท้ายของขั้นตอนการเตรียมตัวก็คือ "เงิน" ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินทางอันดับต้นๆ ที่หลายคนเอามาใช้เป็นข้อจำกัดในการออกท่องเที่ยว

ในสมัยก่อนการจะไปเที่ยวยุโรปอาจต้องใช้เงินหลักแสน แต่ว่าในปัจจุบันนี้มีสายการบินหลายแห่งที่มาแข่งกันออกโปรโมชั่นเที่ยวบินถูกๆ แถมแพ็คแกตที่พัก นับไปนับมาก็ตกอยู่แค่หลักหมื่นเท่านั้นเองค่ะ 

ทีนี้ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับ "การจัดการด้านเงิน" ของตัวเราเองแล้วว่าจะเก็บเงินในแต่ละเดือนได้มากน้อยแค่ไหน มีการบริหารเงินที่มีอยู่ได้อย่างไรแล้วล่ะค่ะ

ตอนนี้อยากให้ทุกคนกำหนด "งบประมาณ" การเดินทางคร่าวๆ ไว้ในใจกันก่อน เที่ยวครั้งแรกจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ยังไง ลองมาแยกดูกันเป็นข้อๆ แล้วตอนท้ายจะได้เอามารวมเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่เราต้องขยันเก็บเงินกัน

ประเภทค่าใช้จ่าย : แยกแยะตัวแปร

ในการเดินทางท่องเที่ยวครั้งหนึ่งจะมีการใช้จ่ายแยกประเภทได้ดังนี้

1. ค่าตั๋วเครื่องบิน - ส่วนนี้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดในการออกทริปก็ว่าได้ ถ้ายิ่งหาโปรโมชั่นจากสายการบินได้ถูก ก็จะช่วยลดงบประมาณการใช้จ่ายไปได้เยอะค่ะ

2. ค่าที่พัก - ตรงนี้แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล บางคนชอบนอนสบายๆ ค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักก็จะมากหน่อย บางคนต้องการประหยัดก็อาจจะไปนอนที่พักราคาถูกเป็นการประหยัดไปได้ หรือถ้ายิ่งไปกันเป็นกลุ่มหลายคนจะช่วยหารค่าที่พักได้นอนสบายๆ จ่ายเบาๆ อีกด้วย

3. ค่าอาหาร - ถ้าเลือกไปประเทศที่ค่าใช้จ่ายสูง เวลากินอยู่ก็อาจต้องประหยัด แต่บางคนก็คิดว่าไหนๆ ไปเที่ยวทั้งทีแล้วต้องกินให้คุ้มได้ลองอาหารแปลกๆ อันนี้แล้วแต่รสนิยมเลยค่ะ วางงบประมาณการกินอยู่ให้เข้ากับสไตล์การใ้ช้ชีวิตตัวเองเป็นดีที่สุด อย่าลืมว่าเราไปเที่ยวไม่ได้ไปอดยากนะคะ (แต่การพกมาม่าไปด้วยก็จะช่วยลดต้นทุนด้านการกินไปได้บางมื้อเหมือนกัน)

4. ค่าเดินทาง - เป็นค่าใช้จ่ายในการโดยสารไปยังที่ต่างๆ เช่น รถไฟใต้ดิน รถเมลล์ หรือถ้าไปบางประเทศที่มีการล่องเรือสวยๆ เช่น ปารีส ลอนดอน ก็อาจมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มเข้ามาได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ต้องกังวลในข้อนี้ค่ะ ค่าโดยสารในยุโรปไม่ได้แพงมากแถมมีบัตรวันลดราคาอีก

5. ค่าชมสถานที่ - พวกพิพิธภัณฑ์ พระราชวัง โบสถ์วิหาร ค่าขึ้นชมภูเขา อันนี้เราต้องจัดวางเงินเอาไว้ตามสถานที่ที่อยากเข้าไปดู อย่างไรก็ตามบางเมืองก็เปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ได้ฟรี เช่น ลอนดอน หรือบางประเทศก็มีวันเข้าชมฟรี เช่น ที่อิตาลีเปิดให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ฟรีวันอาทิตย์แรกของเดือน ถ้าเราวางแผนไปในช่วงนั้นก็จะช่วยประหยัดไปได้

6. ค่าช้อปปิ้ง - สำหรับขาช้อปต้องเพิ่มงบประมาณด้านการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามสินค้าที่อยากจะซื้อ ส่วนคนที่ไม่ได้ชอบซื้อของก็เผื่อเงินตรงนี้ไว้เผื่ออยากซื้อของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ ก็พอ

7. ค่าเสียรู้ - เชื่อว่าทุกคนต้องจ่ายค่าโง่ ค่าเสียรู้ ให้กับการเดินทางอย่างน้อยหนึ่งครั้งค่ะ กันเงินส่วนนี้ไว้ซักหน่อย เวลาเราจ่ายแพงไปจะได้ไม่เสียใจมากนัก (เพราะกันเงินไว้แล้ว) ยกตัวอย่างนะคะ เวลาไปดื่มกาแฟ ถ้าตามร้านคาเฟ่ธรรมดาๆ อาจจะแค่ 1 - 2 ยูโร แต่ถ้าไปนั่งตามจตุรัสสวยๆ ราคากาแฟแก้วนึงอาจจะพุ่งไปที่ 5 ยูโร โดนจ่ายค่าที่นั่งเพิ่มไปด้วยได้ 

** หมายเหตุ - สิ่งที่จำเป็นต้องแยกอย่างจริงจังมีแค่อันดับ 1 - 4 เท่านั้นค่ะ ที่เหลือสามารถรวบเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะไปได้ ถ้าไม่อยากแยกให้เป็นหลายหัวข้อ

 

ประเภทนักท่องเที่ยว : สไตล์ใครสไตล์มัน

ขั้นตอนนี้ต้องทำความเข้าใจวิถีชีวิตตัวเองให้ดีเสียก่อนว่าเราใส่ใจกับอะไร เพราะการไปเที่ยวก็เหมือนกับการนำเอาตัวเราไปเจอสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ภายใต้ "ความชอบ" เดิมที่เรามีอยู่ ดังนั้นขอให้อ่านตัวอย่างประเภทนักท่องเที่ยวกันดู แล้วลองคาดเดาดูว่าเราจะไปอยู่ในประเภทไหนค่ะ 

สายประวัติศาสตร์ - สำหรับคนรักการเรียนรู้ความเป็นมาของประเทศอื่นๆ ชื่นชอบการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ พระราชวัง มีความสุขกับการเดินชมของเก่าที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม

สายธรรมชาติ - เหมาะกับคนชอบป่าเขา ทุ่งหญ้า สวนดอกไม้ วิวภูเขา ชมความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติและภูมิศาสตร์ที่แปลกหูแปลกตา 

สายตัวเมือง - เน้นการชมเมืองเป็นหลัก เมืองใหญ่ เมืองเล็ก หมู่บ้านน่ารักๆ เป็นต้องขอไปเห็น ไปเดิน ไปนั่ง ไปดูผู้คนใช้ชีวิตในแต่ละเมือง

สายช้อปปิ้ง - ไม่ว่าจะช้อปสินค้าประจำเมือง ช้อปสินค้าแบรนด์เนม ช้อปของฝากให้คนที่ไทย ช้อปของใช้กระจุกกระจิก ช้อปของที่ระลึก สายนี้ต้องเจียดเงินไว้มากหน่อยนะคะ

สายติดดิน - สายนี้เน้นประหยัด ขอชม ขอดู แต่ไม่ขอจ่ายเงินมากมายเพื่อการนั้น ขอให้ได้ไปเห็นชมบรรยากาศเป็นอันพอใจ

สายหรู - อันนี้ขอซักทีที่ได้ไปนอนโรงแรมดีๆ กินดีอยู่ดี ใช้ชีวิตเหมือนพระราชา ณ ต่างแดน สายนี้มักจะถือว่าไหนๆ ก็ไปเที่ยวแล้วต้องใช้เงินที่เก็บมาปรนเปรอตัวเองอย่างเต็มที่

สายกิน - แบบนี้คืออยากไปเที่ยวเพราะอยากกินอาหารที่แตกต่างจากปกติ ขนมหวานชื่อดัง ไอศกรีมสุดอร่อย เมนูเด็ดจากเชฟระดับโลก

ทั้งนี้คนหนึ่งคนอาจมีความชอบปนเปกันได้หลายสายค่ะ ลองๆ นึกดูว่าตัวเราเข้ากับอะไร แล้วก็จะได้เผื่อเงินตรงส่วนที่เราชอบมากกว่าส่วนอื่นซักหน่อย เวลาไปเที่ยวจะได้รู้สึกว่าเราไปอย่างคุ้มค่า ได้รับสิ่งที่พึงพอใจนะคะ

ประเภทของที่หมาย : ค่าครองชีพของแต่ละประเทศ

ตรงนี้เราต้องคำนึงถึงว่าประเทศในยุโรปมีหลากหลาย แล้วแต่ละประเทศก็มีค่าครองชีพที่แตกต่างกันไปตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ถ้าเราเลือกไปเที่ยวประเทศแพงๆ ก็ต้องมีงบประมาณที่มากพอสำหรับการเที่ยวประเทศนั้นๆ ด้วยนะคะ ตรงนี้จะขอแบ่งไว้คร่าวๆ ดังนี้ 

ประเทศค่าครองชีพแพงลิบ - ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ามากๆ เช่น อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ซึ่งอัตราค่าแลกเปลี่ยนก็สูง เวลาไปเที่ยวค่าเดินทางและค่าอาหารการกินก็จะแพงสุดๆ ด้วย

ประเทศค่าครองชีพกลางๆ - ประเทศที่ถือว่าพอไปเที่ยวได้สบายๆ ไม่โหดร้ายต่อเงินในกระเป๋ามากนักก็จะมี อิตาลี ฝรั่งเศส ออสเตรีย สเปน โปรตุเกส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์

ประเทศที่มีค่าครองชีพค่อนข้างถูก - แม้ว่าจะถูกกว่าประเทศยุโรปด้วยกันแต่ว่าก็ยังถือว่าค่าครองชีพเค้าสูงกว่าประเทศไทยอยู่ดีนะคะ แต่ว่าเวลาไปเที่ยวจะรู้สึกดีมากๆ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ ถือว่าถูก เช่น ประเทศยุโรปตะวันออก สาธารณรัฐเช็ค ฮังการี โครเอเชีย โปแลนด์ กรีซ

กำหนดค่าใช้จ่าย : แยกเป็นอัตราส่วนง่ายๆ 

พอเราแยกประเภทเสร็จต่อไปก็คือ การกำหนดอัตราส่วนของค่าใช้จ่ายแบบคร่าวๆ ที่ยืดหยุ่นได้ จะได้ประมาณค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนให้เห็นออกมาได้ง่าย (โดยไม่ต้องคิดเป็นจำนวนเงินจริงๆ ในตอนนี้ เอาแค่ว่าเราอยากจ่ายแต่ละส่วนเท่าไหร่แค่นั้นพอค่ะ)  

ตัวอย่าง : ไปเที่ยวประเทศอิตาลี สำหรับคนชอบเที่ยวแนวประวัติศาสตร์ ดูบ้านดูเมือง รักการกิน และต้องการพักแบบสบายๆ

ค่าตั๋วเครื่องบิน
ค่าที่พัก
ค่าอาหาร
ค่าเดินทาง

          30%                         20%                         20%                           10%

ค่าชมสถานที่
ค่าช้อปปิ้ง
ค่าเสียรู้

          10%                           7%                           3%           

แบบแรกคืออยากไปอิตาลีเพราะชอบประวัติศาสตร์ของชาวโรมัน อันนี้ก็ต้องเผื่อค่าเข้าชมสถานที่เยอะหน่อย ค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ก็ต้องเผื่อไว้ด้วย ส่วนไลฟ์สไตล์คือมาแนวไม่อยากประหยัดให้ลำบาก ดังนั้นก็ต้องแบ่งอัตราส่วนให้กับที่พักและการกินไว้เยอะก่อน

ตัวอย่าง : ไปเที่ยวประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สำหรับคนรักธรรมชาติ กินง่ายอยู่ง่าย

ค่าตั๋วเครื่องบิน
ค่าที่พัก
ค่าอาหาร
ค่าเดินทาง

          30%                         15%                         10%                           15%

ค่าชมสถานที่
ค่าช้อปปิ้ง
ค่าเสียรู้

          15%                         10%                           5%           

แบบที่สองอยากไปชมธรรมชาติ ชมภูเขาสวยๆ ของสวิสเซอร์แลนด์ แต่ไม่รักสบายนอนโฮสเทลก็ได้ กินมาม่าก็ได้ ขอให้ได้เห็นวิวสวยๆ อันนี้ต้องจัดค่าเดินทางและค่าชมสถานที่ไว้เยอะๆ ก่อน เพราะรถไฟก็แพง ค่าขึ้นภูเขาก็แพง และต้องเผื่อค่าโง่ไว้สำหรับการเดินทางมากขึ้นเพราะต้องมีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศมาเกี่ยวข้องอีกด้วยค่ะ

ตั้งงบประมาณ : ต้องมีเงินเท่าไหร่สำหรับทริปนี้?

หลังจากที่แบ่งอัตราส่วนแล้ว ต่อไปก็คือการคำนวณกลับเป็นตัวเงินซึ่งจะเป็นงบประมาณของการเดินทางแล้วค่ะ ตรงนี้สามารถทำได้สองแบบคือ 

1. มีจำนวนเงินในใจอยู่แล้ว - ถ้ามีงบตั้งไว้อยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะง่ายเลยค่ะ ปกติการไปเที่ยวยุโรปจากประเทศไทยจะมีการใช้จ่ายรวมค่าเครื่องบินราวๆ 50,000 - 100,000 บาท ต่อการไปเที่ยวประมาณสิบกว่าวัน (ขึ้นกับค่าเครื่องบินและการใช้จ่ายส่วนบุคคลด้วยนะคะ)

ตัวอย่าง : ไปเที่ยวประเทศอิตาลีแนวประวัติศาสตร์ กินดีอยู่ดี มีงบ 70,000 บาท

             รายการ                           อัตราส่วน                       จำนวนเงิน (บาท)

  ค่าเครื่องบิน                                   30%                                 21,000

  ค่าที่พัก                                         20%                                 14,000

  ค่าอาหาร                                      20%                                 14,000

  ค่าเดินทาง                                    10%                                   7,000

  ค่าชมสถานที่                                10%                                   7,000

  ค่าช้อปปิ้ง                                      7%                                   4,900

  ค่าเสียรู้                                         3%                                   2,100

2. ไม่รู้เลยว่าควรมีเงินเท่าไหร่? - สำหรับมือใหม่หัดขับที่ไม่แน่ใจว่าควรจะมีงบเท่าไหร่ ง่ายที่สุดคือการให้เอาค่าเครื่องบินเป็นที่ตั้งค่ะ ปกติตั๋วเครื่องบินจะเป็น 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เราก็เอาราคาเครื่องบินไปยังประเทศจุดหมายเป็นตัวกำหนดงบประมาณคร่าวๆ พอได้ค่าเครื่องบินแล้วเราก็จะคำนวณกลับเป็นเงินงบประมาณรวมได้ ลองดูอย่างนะคะ

ตัวอย่าง : ไปเที่ยวประเทศสวิสเซอร์แลนด์ สำหรับคนรักธรรมชาติ กินง่ายอยู่ง่าย หาค่าเครื่องบินได้ 27,000 บาท

             รายการ                           อัตราส่วน                       จำนวนเงิน (บาท)

  ค่าที่พัก                                         15%                                 13,500

   รวมค่าใช้จ่าย                             100%                                 90,000

  ค่าอาหาร                                      10%                                   9,000

  ค่าเดินทาง                                    15%                                 13,500

  ค่าชมสถานที่                                15%                                  13,500

  ค่าช้อปปิ้ง                                    10%                                   9,000

  ค่าเสียรู้                                         5%                                   4,500

อย่างไรก็ตามนะคะ การคำนวณงบประมาณแบบนี้เป็นแค่การคำนวณแบบคร่าวๆ ให้เราเกิดไอเดียเท่านั้น พอถึงเวลาจองเครื่องบิน จองที่พักจริงๆ ก็จะมีการยืดหยุ่นไปตามโปรโมชั่นที่เราหาได้ แต่การมีงบประมาณจะช่วยให้เราไม่จองเครื่องบินที่แพงเกินไป หรือที่พักที่เกินขอบเขตที่เราจะจ่ายได้ ยังไงเอาวิธีนี้ไปลองปรับใช้ให้เข้ากับนิสัยการเที่ยวของเราดูกันนะคะ (บางคนอาจต้องแก้หลายๆ รอบ จนกว่าจะได้ตัวเลขที่ถูกใจและถูกกับจำนวนเงินที่มีอยู่ด้วย)

สำหรับการเที่ยวยุโรปประเทศเดียวจะราคาถูกกว่าการเหมารวมหลายๆ ประเทศเข้าด้วยกัน สำหรับคนเดินทางครั้งแรกก็อยากจะแนะนำให้เลือกประเทศใดประเทศหนึ่งมาก่อน จะได้เข้าใจว่าตัวเองชอบเดินทางแบบไหน ในราคาที่จ่ายไปแล้วคุ้มค่า ถ้าเลือกเดินทางหลายๆ ประเทศเลย จะทำให้มีตัวแปรมากเกินไป ค่าเดินทางก็จะมากตามไปด้วย แถมไม่ได้ใช้เวลาอย่างเต็มอิ่มเพราะต้องเอาไปเดินทางอีกด้วยค่ะ 

bottom of page